Processing math: 0%

กฎข้อ 1 ของเทอร์โมไดนามิกส์

โดย ทีปานิส ชาชิโย

เมื่อทำการวิเคราะห์พฤติกรรมหรือทำนายสมบัติของระบบ อาทิเช่น แก็สที่อยู่ภายในลูกสูบเครื่องยนต์ น้ำที่อยู่ภายในแก้ว หรือแท่งโลหะสักชิ้น พลังงานของระบบ ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดสภาวะและคุณสมบัติของมัน ดังนั้นในบทนี้เราจะได้ศึกษาธรรมชาติของพลังงานภายในของระบบ ว่ามันสามารถมีค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วยกระบวนการใดบ้าง

พิจารณาระบบของแก็ส ที่ประกอบด้วย 100 อนุภาคบรรจุอยู่ภายใน ซึ่งในความเป็นจริงข้อสรุปของการวิเคราะห์ในครั้งนี้ ใช้ได้โดยทั่วไปกับวัสดุหรือระบบทุกรูปแบบ แต่การยกตัวอย่างของแก็สในภาชนะ จะทำให้สามารถมองเป็นระบบได้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น จากภาพจะเห็นว่าระบบมีพลังงานภายในอยู่น้อยมาก สังเกตได้จากการเคลื่อนที่ของแต่ละอนุภาคที่มีความเร็วค่อนข้างน้อย ประเด็นคำถามในที่นี้ก็คือ "เราจะเพิ่มพลังงานภายในของระบบ ด้วยกระบวนการใดได้บ้าง ?"

กระบวนการแรกที่เราคุ้นเคย ก็คือให้ความร้อนกับมัน ดังจะเห็นได้จากภาพที่เราเริ่มจุดไฟด้านล่าง ทำให้พลังงานในรูปของความร้อนไหลเข้าไปในระบบ ส่งผลให้พลังงานภายใน มีค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถเขียนในรูปของสมการได้ว่า

dU = dQ

นั่นหมายถึง พลังงานภายในของระบบ ที่เพิ่มขึ้น ก็มีค่าเท่ากับความร้อน dQ ที่ไหลเข้าไปในระบบ จะสังเกตเห็นได้ว่า อนุภาคที่อยู่ในภาชนะ มีการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว หรืออีกนัยหนึ่ง มันมีพลังงานจลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งก็มาจากความร้อนที่ป้อนเข้าไปนั่นเอง

กระบวนการที่สอง ซึ่งสามารถเพิ่มพลังงานภายในให้กับระบบ ก็คือการ "ทำงานกับมัน" เมื่อพูดถึงงานที่ทำกับระบบ อาจจะดูเป็นนามธรรมที่เข้าใจยากอยู่บ้าง แต่ถ้าสังเกตตัวอย่างในภาพ ก็คือการที่เราออกแรงผลัก ผนังของของภาชนะ หรือผลักลูกสูบให้มีขนาดเล็กลง เมื่อออกแรงผลัก F และออกแรงเป็นระยะทาง dx ในทางฟิสิกส์ ก็คือการที่ตัวหุ่นยนต์ กำลังทำงาน dW=F dx และงานอันนี้เอง ก็จะถ่ายเทเป็นพลังงานเข้าสู่ระบบ ทำให้อนุภาคในภาชนะ มีการเคลื่อนที่เร็วขึ้นดังแสดงในภาพ การที่เราเพิ่มพลังงานภายในระบบ จาก "งาน" ที่สิ่งแวดล้อมกระทำกับมัน สามารถเขียนให้อยู่ในรูปของสมการได้ว่า

dU = dW

ระบบในกรณีทั่วไปนั้น กระบวนการถ่ายเทพลังงานเข้าสู่ระบบ จะเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยนี้เท่านั้น ก็คือความร้อนที่ถ่ายเทเข้าไป และงานที่เราทำกับมัน นี้เองคือกฎข้อที่ 1 ของ Thermodynamics ซึ่งเขียนให้กระชับอยู่ในรูปของสมการก็คือ

กฎข้อ 1 ของ Thermodynamics: dU = dQ + dW หรือ
"พลังงานภายในของระบบ จะเพิ่มขึ้น เมื่อ 1) ความร้อนจากภายนอกไหลเข้าสู่มัน และ 2) มี งานที่กระทำกับระบบ"

ยกตัวอย่างเช่น ระบบที่เรากำลังพิจารณาก็คือกาแฟสักแก้ว ครั้นเมื่อเติมน้ำพอสมควร น้ำตาล และผงเนยเทียมผงกาแฟหอมกรุ่นแล้ว ปรากฏว่าคุณสังเกตเห็นมันยังไม่ละลาย เราต้องการเพิ่มพลังงานภายในให้กับระบบ ด้วยหวังว่ามันจะละลายเข้ากันได้ดีขึ้น ซึ่งสามารถทำได้สองวิธี คือ 1) นำไปต้มอีกครั้งบนเตา นี้เองคือการเพิ่มพลังงานด้วยกระบวนการของ dQ ซึ่งหากยังไม่เพียงพอ 2) เราก็สามารถออกแรงคนด้วยช้อน อันเป็นการ "ทำงาน" กับระบบ นี้เองคือการเพิ่มพลังงานด้วยกระบวนการของ dW

หมายเหตุ: หนังสือเรียนฟิสิกส์ในอดีต นิยามงาน dW ว่าเป็นงานที่ "ระบบทำ" ซึ่งตรงกันข้ามในกรณีของเรา ที่เป็นงานซึ่ง "กระทำกับระบบ" ด้วยเหตุนี้ กฎข้อ 1 ของ Thermodynamics จึงเขียนอยู่ในรูป dU = dQ - dW นี้เป็นเพียงความแตกต่างในเชิงคำนิยาม อันทำให้เครื่องหมายสลับกันจากบวกเป็นลบ อย่างไรก็ตาม แบบเรียนฟิสิกส์ในปัจจุบัน อาทิเช่น Serway, "College Physics" 9th Edition (และที่ใช้ในวิชาเคมีมาโดยตลอด) เริ่มมีการปรับมาใช้คำนิยามของ dW ตรงกันกับที่เราใช้อยู่นี้


ตัวอย่างโจทย์

แก็สที่เรียกว่า mono-atomic ideal gas ปริมาณ 0.1 โมล โดนขังอยู่ในลูกสูบที่เคลือบด้วยฉนวนความร้อน มีแรงลัพธ์ (รวมทั้งจากความดันบรรยากาศ) กดลิ้นลูกสูบด้วยแรง 200 N อย่างต่อเนื่อง เมื่อกดเข้าไปได้เป็นระยะทาง 10 cm อุณหภูมิของแก็สจะเพิ่มขึ้นเท่าใด ?

วิธีทำ จากในบทที่หนึ่ง ระบบของแก็สในอุดมคติซึ่งโมเลกุลประกอบด้วยอะตอมเพียงอันเดียว หรือที่เรียกว่า mono-atomic ideal gas นั้น อุณหภูมิของมันแปรผันตรงกับพลังงานภายในของระบบ กล่าวคือ

U = \frac{3}{2}Nk_B T หรือ dU = \frac{3}{2}Nk_B dT --------- (E.1)

เพราะฉะนั้นหากเราสามารถคำนวณหาพลังงาน dU ที่เพิ่มขึ้นจากการออกแรงกดลิ้นลูกสูบ โดยอาศัยกฎข้อ 1 ของ Thermodynamics เราก็สามารถคำนวณหาอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ดังที่โจทย์ต้องการทราบ

จากกฎข้อ 1 ของ Thermodynamics

dU = dQ + dW

โจทย์กำหนดให้ ภาชนะมีฉนวนความร้อนเคลือบอยู่ นั่นหมายความว่า ในกรณีนี้ความร้อนไม่สามารถไหลเข้าหรือออกจากระบบได้ กล่าวคือ dQ=0 ทำให้ในโจทย์ข้อนี้ dU=dW

เราสามารถคำนวณงาน dW ที่สิ่งแวดล้อมกระทำแก็สได้ นั่นคือแรง F = 200N และระยะทาง d = 10\,cm = 0.1\,m ทำให้งานที่กระทำกับระบบก็คือ dW = Fd = 200 \times 0.1 = 20\,J และงาน 20 จูลนี้เองเข้าไปทำให้พลังงานภายในของแก็สเพิ่มขึ้น dU = 20\,J

ย้อนกลับไปที่สมการ (E.1) dU = \frac{3}{2}Nk_B dT ซึ่ง N คือจำนวนโมเลกุลภายในภาชนะ ซึ่งโจทย์บอกว่ามีค่าเท่ากับ 0.1 โมล ดังนั้น N = 0.1\,N_A เมื่อ N_A คือ Avogadro Number ซึ่งมีค่าเท่ากับ 6.02 \times 10^{23} เพราะฉะนั้น

dU = \frac{3}{2} \times 0.1 \times N_A k_B \,dT

เทอม N_A k_B นั้นก็คือ ค่าคงที่ซึ่งเรียกว่า Gas Constant N_A k_B \equiv R = 8.31\,J/K \cdot mol ผนวกกับ dU = 20\,J ดังนั้น

\begin{array}{c} 20 = \frac{3}{2} \times 0.1 \times \left( {8.31} \right)\,dT \\ 16\,K = dT \\ \end{array}
กล่าวคือ อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 16 องศาเคลวิน ตอบ

ในการวิเคราะห์พลังงานภายใน dU ที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากความร้อนและงาน นั้นจำเป็นต้องมีความรอบคอบเมื่อพิจารณาเครื่องหมายของ dQ และ dW

ในกรณีของ dQ นิยามเป็นความร้อนที่ไหลเข้าสู่ระบบ กล่าวคือหาก dQ มีค่าเป็นบวก นั้นแสดงว่าอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมนั้นมีค่าสูงกว่าระบบ ทำให้ความร้อนมีการไหลเข้าไปภายใน อาทิเช่นการเปิดเตาแก็สเพื่อต้มน้ำ อุณหภูมิของเปลวไฟที่สูงมากส่งผลให้ความร้อนไหลเข้าสู่กาต้มน้ำ แต่หาก dQ มีค่าติดลบ นี้หมายถึงความร้อนกำลังถูกทำให้รั่วไหลออกจากตัวระบบ เข้าสู่สิ่งแวดล้อม อาทิเช่นขณะคุณกำลังอาบน้ำ อุณหภูมิของร่ายกายที่สูงกว่า ส่งผลให้ความร้อนไหลออกไปสู่น้ำเย็นที่อยู่โดยรอบ

ในกรณีของ dW โดยนิยามแล้ว คืองานที่ "สิ่งแวดล้อม" กระทำกับระบบ อาทิระบบคือแก็สที่อยู่ในภาชนะ เรา (ในฐานะสิ่งแวดล้อม) ออกแรงบีบแก็สให้มีปริมาตรเล็กลง นี้เรียกว่างานมีค่าเป็นบวก และงานที่สิ่งแวดล้อมกระทำนี้ มีผลให้พลังงานภายในของระบบเพิ่มขึ้น แต่ในหลายกรณี dW มีค่าติดลบซึ่งเราจะได้เห็นในตัวอย่างโจทย์ต่อไปนี้


ตัวอย่างโจทย์

Mono-atomic ideal gas ปริมาณ 0.2 โมล ณ ความดันบรรยากาศ อยู่ในภาชนะทรงกระบอก (พื้นที่หน้าตัด A = 10 ตารางเซนติเมตร) ใน 2 ลักษณะ คือ a) ปิดสนิท และ b) มีลิ้นลูกสูบให้ขยาย ออกอีกได้ 10 cm ดังแสดงในภาพ เมื่อให้ความร้อนเข้าไปช้าๆ รวมทั้งสิ้น 20 จูล อุณหภูมิของแก็สในภาชนะทั้ง 2 กรณี จะเพิ่มขึ้นเท่าๆกันหรือไม่ เพิ่มขึ้นเท่าใด ?

วิธีทำ

อีกเช่นเคย เราเริ่มจากความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานภายในของแก็สกับอุณหภูมิของมัน นั่นคือ

U = \frac{3}{2}Nk_B T = \frac{3}{2}n\underbrace {N_A k_B }_{ \equiv R}T = \frac{3}{2}nRT หรือ dU = \frac{3}{2}nRdT --------- (E.1)

ในสมการข้างต้น เพื่อความสะดวกเราเขียนจำนวนของอนุภาคในภาชนะ ให้อยู่ในรูปจำนวนโมล N = nN_A ทั้งนี้เพราะข้อมูลที่โจทย์กำหนดให้ก็คือ n = 0.2\,{\text{mol}}

เนื่องจากในทั้งสองกรณี a ) และ b) มีลักษณะของภาชนะที่แก็สบรรจุอยู่แตกต่างกัน แม้ว่าให้ความร้อนเข้าไป 20 J เท่ากัน จะส่งผลให้พลังงานงานภายในเพิ่มขึ้นได้แตกต่างกัน

กรณี a) เมื่อพิจารณากฎข้อ 1 ของ Thermodynamics

dU = dQ + dW

โจทย์กำหนดให้ ภาชนะปิดสนิทมีปริมาตรคงที่ "งาน" ก็คือแรงคูณระยะทาง แม้ว่าสิ่งแวดล้อมภายนอกจะออกแรงบีบ เนื่องมาจากความดันบรรยากาศ แต่ไม่มีการเคลื่อนที่เพราะไม่สามารถกดให้ภาชนะ หรือปริมาตรของแก็สเล็กลงอีกได้ ดังนั้นในกรณี a) dW=0 มีผลทำให้ dU=dQ

จากโจทย์ dQ=20 J ผนวกกับสมการ (E.1) ทำให้เราเขียนได้ว่า

\displaylines{ dU = dQ = \frac{3}{2}nRdT \cr 20 = \frac{3}{2}\left( {0.2} \right)\left( {8.31} \right)dT \cr 8.02 = dT \cr}

กล่าวคือ อุณหภูมิของแก็สในกรณี a) จะเพิ่มขึ้น 8.02 เคลวิน ตอบ

กรณี b) เริ่มด้วยการพิจารณากฎข้อ 1 ของ Thermodynamics อีกครั้ง

dU = dQ + dW

นี้ต่างจากในกรณีแรก เพราะภาชนะเป็นลูกสูบที่เปิดโอกาส ให้มีการขยายตัวได้ หรือลิ้นลูกสูบมีการเคลื่อนที่ ดังนั้นเราต้องพิจารณาแรงที่สิ่งแวดล้อมกระทำกับระบบ และระยะทางของการเคลื่อนที่ เพื่อคำนวณหางาน dW

จากภาพจะเห็นว่า แรงที่สิ่งแวดล้อมภายนอกกระทำนั้น ก็เนื่องมาจากความดันบรรยากาศ สมมุติให้พื้นที่ของลิ้นลูกสูบมีค่าเป็น A ดังนั้นแรง ซึ่งคือผลคูณของความดันและพื้นที่รองรับ ก็คือ

F = P_0 A = 101000\,{\text{Pascal}}\, \times \,10\,{\text{cm}}^2 = 101000\,{\text{Pascal}}\, \times \,10\,\left( {0.01\,{\text{m}}} \right)^2 = 101\,{\text{Newtons}}

แก็สเมื่อทำให้ร้อน มันย่อมขยายตัวออก ส่งผลให้ลิ้นลูกสูบเคลื่อนที่เป็นระยะทาง dx = 10\,cm = 0.1\,m และงานที่สิ่งแวดล้อมกระทำก็คือ

dW = - \,101 \times (0.1) = - 10.1\,{\text{Joules}}

ให้สังเกตว่างานในที่นี้ติดลบ ในทางคณิตศาสตร์ ก็เพราะว่าทิศทางการเคลื่อนที่ นั้นตรงกันข้ามกับทิศทางของแรงที่กระทำ ในทางฟิสิกส์ หมายถึงพลังงานกำลังสูญเสียออกจากระบบสู่สิ่งแวดล้อมนั่นเอง

เมื่อเราทราบว่า dW = - 10.1\,J ทำให้สามารถคำนวณพลังงานภายในของแก็สที่เพิ่มขึ้นได้ว่า

dU = dQ + dW = 20 - 10.1 = 9.9J

จากนั้น อาศัยสมการ (E.1) เพื่อโยงความสัมพันธ์ไปยังอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น

\displaylines{ dU = \frac{3}{2}nRdT \cr 9.9 = \frac{3}{2}\left( {0.2} \right)\left( {8.31} \right)dT \cr 3.97 K = dT \cr}

กล่าวคือ อุณหภูมิของแก็สในกรณี b) จะเพิ่มขึ้น 3.97 เคลวิน ตอบ


จากตัวอย่างโจทย์ที่ผ่านมาจะพบว่า ในกรณีที่เราเปิดโอกาสให้แก็สสามารถขยายตัวได้ เมื่อให้ความร้อนเข้าไปจะทำให้อุณหภูมิของแก็สเอง เพิ่มขึ้นได้ไม่สูงนัก (เพียงแค่ 4 องศา เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ปริมาตรคงที่ ซึ่งอุณหภูมิสูงขึ้น 8 องศา) นี่ก็เพราะว่าพลังงานส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ทำงานในการ "ต่อสู้" กับความดันบรรยากาศภายนอก เพื่อให้แก็สขยายตัวออก จึงเหลือพลังงานเพียงบางส่วนไปกักเก็บไว้ภายใน ส่งผลให้อุณหภูมิของมันมิได้สูงขึ้นเท่าที่ควร

Keyword: กฎข้อ 1 ของเทอร์โมไดนามิกส์ , งานและความร้อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น